ที่มาของโครงการฯ

ABOUT US

ปัจจุบัน กล่องยูเอชที ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์จากการผลิตในระบบปลอดเชื้อ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากระบบยูเอชที มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค ด้วยความสามารถในการเก็บรักษาคุณภาพของสินค้า (เครื่องดื่ม อาหารเหลว) ไว้ได้นานโดยไม่ใส่วัตถุกันเสีย ทั้งยังสะดวกต่อการขนส่ง นอกจากนี้ กล่องยูเอชที ยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถแสดงความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ โดยช่วยกันคัดแยกไว้เพื่อส่งกระบวนการรีไซเคิล เพื่อลดมลภาวะต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โครงการ ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกล่องยูเอชที และกระบวนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องยูเอชทีใช้แล้ว เพื่อลดปริมาณขยะ และเพิ่มอัตราการรีไซเคิล โดยมีภาคีผู้สนับสนุนและดำเนินโครงการได้แก่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดยบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่องวิเศษ (บริษัท กล่องวิเศษ จำกัด) ดำเนินงานมากว่า 2 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 – เดือนเมษายน 2561 ในพื้นที่เป้าหมายโครงการ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และปทุมธานี ซึ่งสามารถจัดเก็บกล่องยูเอชทีได้จำนวนกว่า 79.4 ล้านกล่อง หรือกว่า 794 ตัน เพื่อนำสู่กระบวนการรีไซเคิล ทั้งนี้ กลยุทธ์หนึ่งที่สามารถสร้างความสำเร็จในการดำเนินงานได้ คือการพัฒนาการดำเนินงานโดยความร่วมมือจากส่วนงานปกครองท้องถิ่นตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประสานความร่วมมือ ร่วมกันผลักดันให้เกิดกลไกการจัดเก็บกล่องยูเอชทีอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ สร้างความสำเร็จของงาน ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณขยะ เปลี่ยนจาก ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘วัสดุรีไซเคิล’ โดยมีผลเป็นตัวเลขที่ชี้วัดได้

จากผลสำเร็จด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่เป้าหมาย ที่ส่งผลให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือคัดแยกกล่องยูเอชทีมาอย่างต่อเนื่องนั้น สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการคัดแยกกล่องยูเอชทีได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ระยะที่ 3 จึงได้ขยายผลการดำเนินโครงการ โดยการดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมายเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมใหม่ (ขยายพื้นที่จากจังหวัดเดิม) นับเป็นกระบวนการที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานปี 2561 – 2562 ภาคีโครงการทุกราย ทั้งที่เป็นภาคีความร่วมมือส่วนท้องถิ่น ภาคีความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการรณรงค์ในพื้นที่ ตลอดจนเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการดำเนินงาน อาจกล่าวได้ว่า โครงการ “กล่อง ยูเอชที รีไซเคิลได้” ระยะที่ 3 เป็นการต่อยอดโครงการ ผ่านการประสานความร่วมมือ ผนึกกำลังทั้งด้านองค์ความรู้และทรัพยากร เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จอันเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศต่อไป

โดยการดำเนินโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ระยะที่ 3 นี้ นอกจากจะคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการแล้ว โครงการฯ ยังให้ความสำคัญด้านสังคมและการศึกษาด้วยเช่นกัน โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการนำกล่องยูเอชทีที่รวบรวมได้จากภาคีเครือข่ายโครงการทุกภาคส่วน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำเยื่อกระดาษที่ได้ มาผลิตเป็นกระดาษเพื่อทำสื่ออักษรเบลล์ มอบให้แก่เด็กนักเรียนผู้พิการทางสายตา โรงเรียนสอนคนตาบอด นับเป็นการนำกล่องยูเอชทีกลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคืนกลับสู่สังคม อันเป็นผลจากการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างระบบการจัดการที่ดีที่สามารถรองรับการคัดแยกกล่องยูเอชทีได้อย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อสร้างจิตสำนึกของประชาชน ในการร่วมคัดแยกกล่องยูเอชที เพื่อนำส่งกระบวนการรีไซเคิล โดยมุ่งหวังในระดับการผลักดันให้เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
  2. เพื่อพัฒนากลุ่มผู้นำการดำเนินงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ให้มีความเข้าใจ และตระหนักรู้ในคุณค่าของกล่อง ยูเอชทีใช้แล้ว และร่วมผลักดันให้เกิดการนำกล่องยูเอชทีกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  3. เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในประเด็นความร่วมมืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการคัดแยกกล่องยูเอชทีใช้แล้ว เพื่อนำส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  4. เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคที่ใช้กล่องยูเอชที
  5. เพื่อดูแลและพัฒนางานในพื้นที่เป้าหมายจากช่วงระยะนำร่องโครงการ
  6. เพื่อลดปริมาณขยะ และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในพื้นที่เป้าหมาย
  7. พัฒนาแผนการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์กล่องยูเอชที และดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย
  8. เพื่อนำส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์กล่องยูเอชทีใช้แล้วทุกส่วน นำกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม และสิ่งแวดล้อม

กลุ่มเป้าหมาย

  1. ภาคีความร่วมมือท้องถิ่น (Local Corporation - LC)
    • a. กลุ่มการดำเนินงานต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี ราชบุรี
      • i. ดูแลและพัฒนา: 8 กลุ่มภาคีเครือข่ายความร่วมมือท้องถิ่น จากระยะที่ 2
      • ii. ขยายผลการรณรงค์ในพื้นที่ : ขยายผลระดับจังหวัด หรือ มีกลุ่มภาคีเพิ่มเติม 4 กลุ่ม
    • b. กลุ่มการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายใหม่ 4 จังหวัด (ตามความพร้อมของหน่วยงาน) เพื่อดำเนินกิจกรรมเต็มรูปแบบ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

สิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2562


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ประชาชนเกิดจิตสำนึก ในการร่วมคัดแยกกล่องยูเอชที เพื่อนำส่งกระบวนการรีไซเคิล และสามารถปรับเปลี่ยน พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ในด้านการคัดแยกกล่องยูเอชที อันสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  2. เกิดกลุ่มผู้นำการดำเนินงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น โดยกลุ่มผู้นำมีความเข้าใจ และตระหนักรู้ในคุณค่าของกล่อง ยูเอชทีใช้แล้ว และร่วมผลักดันให้เกิดการนำกล่องยูเอชทีกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง
  3. ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีในประเด็นความร่วมมืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการคัดแยกกล่องยูเอชทีใช้แล้ว เพื่อนำส่ง เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  4. สามารถปลูกฝังโครงการที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
  5. ปริมาณขยะลดลง และอัตราการรีไซเคิลในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น
  6. เกิดระบบการจัดเก็บ รวบรวมกล่องยูเอชทีที่มีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการคัดแยกกล่องยูเอชทีอันเป็นผลจาก การรณรงค์ในพื้นที่เป้าหมาย
  7. ส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องยูเอชที เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสังคม และการศึกษา